โคเออร์แม่สะเรียงจัดการอบรมการป้องกันการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศแก่ผู้ปฏิบัติงานภาคชุมชน

   โคเออร์แม่สะเรียงจัดการอบรมการป้องกันการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน ในวันที่ 7 มิถุนายน 2566 มีบุคลากรภาคชุมชนของโคเออร์ที่เป็นผู้หนีภัยฯ เข้ารับการอบรมจำนวน 24 คน และบ้านแม่ลามาหลวง วันที่ 8 มิถุนายน 2566 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 29 คน วัตถุประสงค์หลักของการอบรมคือ

   1) เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เข้าร่วมการอบรมเรียนรู้และเข้าใจความหมายของการการคุกคามทางเพศ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และการ ล่วงละเมิดทางเพศ

   2)เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความตระหนักในนโยบายและขั้นตอนของงานป้องกันและการคุ้มครองผู้หนีภัยจากการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศ

   วิทยากรได้อธิบายความหมายของการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีสามประเภทหลัก ได้แก่ การข่มขู่คุกคาม การล่อลวงเพื่อแสวงหาประโยชน์ และการใช้กำลังประทุษร้ายทางเพศ จากนั้นได้นำกรณีศึกษามาวิเคราะห์เหตุผล เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการล่วงละเมิดและโทษทางกฏหมายที่จะได้รับ

   บุคลากรโคเออร์ทุกคนมีจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานสงเคราะห์ด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่และทุ่มเท ไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์ บุคลากรยังมีหน้าที่ในการปกป้องและให้ความรู้แก่ชุมชนในเรื่องของสิทธิที่พึงมี และหากเกิดกรณีการล่วงละเมิด สามารถแจ้งต่อหน่วยงานเพื่อขอความช่วยเหลือ

   กรณีเกิดเหตุการณ์สงสัยว่าเป็นการล่วงละเมิดโคเออร์ก็มีระบบโครงสร้างการทำงานเพื่อให้ความยุติธรรมต่อผู้เสียหาย

  ระบบโครงสร้างโคเออร์ในเรื่องของจรรยาบรรณ ได้แก่ การที่บุคคลหรือบุคลากรใดๆ รับทราบข้อสงสัยหรือเรื่องราวร้องทุกข์ ถึงเหตุล่วงละเมิด ให้รีบให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย รายงานกรณีสงสัยล่วงละเมิดต่อผู้บังคับบัญชา ทางวาจา ตามด้วยฟอร์มร้องทุกข์ หรือจดหมายร้องทุกข์ หรือส่งอีเมล์ต่อผู้จัดการสนามแม่สะเรียงในฐานะผู้ประสานงานจรรยาบรรณ ซึ่งจะทำการแต่งตั้งคณะทำงานค้นหาข้อเท็จจริง การรายงานผลการค้นหาข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง เพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการลงโทษตามกฏหมายต่อไป

 

 

การอบรมเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศแก่บุคลากรภาคชุมชนของโคเออร์แม่สะเรียง

ที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน และบ้านลามาหลวง